Friday, October 06, 2006

Tospråklig/Bilingual

Sofie og Helene
Jeg kan ikke vente, jeg har stoffer. Jeg synes at det er nyttig å vite for noen mamma som meg. Opplysningen i thai ble samlet fra internett i 2004.

1) ครอบครัวไทย-ฝรั่งเศสบางครอบครัวตัดสินใจใช้แต่ภาษาฝรั่งเศสในบ้าน บางครอบครัวลูกสามารถพูดได้ 2 ภาษา และบางครอบครัวก็ตัดสินใจให้ลูกเรียนภาษาไทยเมื่อโตขึ้น หลังจากที่ผ่านระบบการศึกษาในภาษาฝรั่งเศสในระดับหนึ่งแล้ว แน่นอนว่าคงไม่สามารถบอกได้ว่าครอบครัวใดควรมีวิธีการอย่างไร แต่หากคุณและสามี (หรือภรรยา) มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะให้ลูกมีความรู้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทยตั้งแต่เด็กแล้วละก็ เรากำลังคิดเหมือนกันค่ะ ข้อมูลที่ได้รวบรวมและนำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้อ่านนี้ ได้มาจากการค้นคว้าทางอินเตอร์เนท ครอบครัวที่ให้เวลาและมีความตั้งใจอย่างจริงจังต้องการให้ลูกของตนเองพัฒนาศักยภาพของทั้ง 2 ภาษา มักจะประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าอาจจะมีหลายครอบครัวที่ลูกสามารถพูดหรือรู้ภาษามากกว่านี้ ก่อนอื่นขอแปลความหมายของคำว่า “bilingualism” (ภาษาอังกฤษ) หรือ “bilingue” (ภาษาฝรั่งเศส) ว่า “การรู้ 2 ภาษา” ไม่ใช้คำว่า “การพูด 2 ภาษา” เนื่องจาก “การรู้ 2 ภาษา” นั้นมีหลายระดับ ได้แก่ ฟังออก พูดได้ อ่านออกและเข้าใจ และเขียนได้ หรือกระทั่งมีความคล่องแคล่วในการคิดและให้เหตุผล ด้วยภาษาทั้งสองอย่างเท่าเทียมกัน มีผู้อธิบายไว้ดังนี้ - การรู้ทั้ง 2 ภาษาอย่างสมดุลย์ คือมีความสามารถในการใช้ (ระดับต่างๆ) ทั้ง 2 ภาษาอย่างเท่าเทียมกัน - การรู้ทั้ง 2 ภาษาโดยมีภาษาหลักที่ใช้ประจำ ในขณะที่ความรู้ของอีกภาษาหนึ่งจะด้อยกว่า ตัวอย่างเช่น เด็กที่สามารถเข้าใจภาษาไทยเมื่อพ่อหรือแม่พูดด้วย แต่จะสามารถตอบกลับด้วยภาษาฝรั่งเศส ส่วนใหญ่แล้ว คนที่จัดอยู่ในกลุ่ม “รู้ 2 ภาษา” มักจะรู้ภาษาหนึ่งมากกว่าอีกภาษาหนึ่ง เช่น ลูกจะรู้ภาษาฝรั่งเศสมากกว่าภาษาไทย ซึ่งการเด่นของภาษาหนึ่งมากกว่าอีกภาษาหนึ่งนั้น สามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่น ลูกของคุณไปเยี่ยมคุณปู่-คุณย่าชาวฝรั่งเศสเป็นเวลา 1 อาทิตย์ พอไปรับกลับบ้านลูกไม่ยอมพูดไทยกับคุณเสียแล้ว แต่พอ 2-3 วันต่อมา เขาจึงยอมพูดด้วย หรือคุณพาลูกกลับไปเยี่ยม คุณตา-คุณยาย ที่ประเทศไทยช่วงปิดเทอมหน้าร้อน ลูกคุณก็จะสามารถรู้ภาษาไทยมากขึ้นและถ้าคุณพ่อชาวฝรั่งเศสไม่ได้ตามกลับไปด้วยแล้วละก็ ลูกก็ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น ทำให้บางครั้งอาจมีการลืมและพูดกับคุณพ่อเป็นภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ เหตุการณ์ลืมภาษาฝรั่งเศสนี้เรามักเห็นตัวอย่างบ่อยๆ ในนักศึกษาไทยหรือคนไทยที่ถึงแม้จะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสหลายปี แต่หลังจากกลับไปทำงานที่ประเทศไทยแล้ว ความสามารถในการใช้ภาษาฝรั่งเศสมักจะด้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสเลย หรือแม้กระทั่งตัวคุณเองที่อยู่ฝรั่งเศสนานๆ บางครั้งก็นึกคำศัพท์ไทยไม่ออกเวลาพูดคุยกับเพื่อนชาวไทยด้วยกัน ดังนั้น “การรู้ 2 ภาษา” บางครั้งจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว กล่าวคือหากไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้ภาษาที่ตนเองเคยใช้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ความสามารถก็จะค่อยๆ เลือนไปทั้งในรุ่นตัวเองหรือในรุ่นลูก-หลาน อย่างเช่น พ่อแม่คนไทยที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในฝรั่งเศส เมื่อออกลูกมารุ่นแรก ลูกมักจะยังรู้ภาษาไทยและมักเป็นพวกที่ “รู้ 2 ภาษาอย่างสมดุลย์” แต่เมื่อลูกมีลูกหรือหลานรุ่นต่อไป ความสามารถนี้จะลดลง และบางครั้งจะหายไปตามสภาพแวดล้อมที่เขาใช้ชีวิตอยู่ ขึ้นอยู่กับลักษณะชุมชนไทยที่เขามีส่วนร่วม หรือการเข้าร่วมกับสังคมและวัฒนธรรมฝรั่งเศสโดยการแต่งงานกับคนฝรั่งเศสต่อ ในขณะที่นักวิจัยบางท่านกำหนดว่าเด็กจะมีความสามารถในการสื่อสารพื้นฐานของภาษาหนึ่งๆ ที่อายุ 3 ขวบ และทฤษฎี “ช่วงอายุวิกฤติ” (Critical period hypothesis) ซึ่งเป็นความเชื่อที่สั่งสมมานานกล่าวว่า ในเด็กเล็กจะเรียนรู้ภาษาที่ 2 ได้ง่ายและเร็วกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงควรเรียนรู้ภาษาที่ 2 ก่อนช่วงวัยรุ่น แต่ปัจจุบันทฤษฎีนี้เริ่มเป็นที่ถกเถียงและมีคนไม่เชื่อ องค์ประกอบอื่นอาจมีผลต่อความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้ของผู้ใหญ่และเด็ก การเรียนรู้ภาษาอย่างง่ายดายและเร็วของเด็กนั้น อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมทำให้เขามีโอกาสในการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและบ่อยกว่าในผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้ใหญ่จะมีความได้เปรียบในการเรียนคำศัพท์ และโครงสร้างของประโยค ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่จะไม่มีทางออกเสียงได้เหมือนเจ้าของภาษาที่แท้จริงเหมือนกับเด็ก

การเรียนรู้ 2 ภาษา อาจเป็นรูปแบบเรียนรู้ในเวลาเดียวกัน (simultaneous bilingual acquisition) คือมีการใช้ทั้ง 2 ภาษากับเด็กตั้งแต่ยังเป็นทารก หรือรูปแบบเรียนรู้แบบตามลำดับหรือทีละภาษา (sequential biliangual acquisition) โดยใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งก่อนเพื่อให้เด็กมีพื้นฐานที่เหมาะสมแล้วจึงเริ่มให้รู้ภาษาที่ 2 การเรียนรู้ 2 ภาษาในเวลาเดียวกัน (รูปแบบที่กล่าวต่อไปนี้เป็นวิธีที่ใช้ในเด็กที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด) รูปแบบนี้ผู้เชี่ยวชาญเน้นความสำคัญของการแยกภาษาอย่างเด่นชัด เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น เมื่อเด็กต้องเรียน 2 ภาษาในเวลาเดียวกัน คุณพ่อ-คุณแม่จำเป็นต้องเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง เพื่อเป็นการขีดขอบเขตของแต่ละภาษาให้ลูกเห็นอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น - หนึ่งคน หนึ่งภาษา (One Parent One Language, OPOL) วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น กรณีพ่อและแม่พูดภาษาต่างกัน ควรพูดกับลูกด้วยภาษาของตนเอง หรือบางครอบครัวอยากให้ลูกรู้ภาษาที่ 3 หรือ 4 ในเวลาเดียวกันด้วย ก็สามารถทำได้ เช่น จ้างนักศึกษาอเมริกันมาช่วยเลี้ยง หรือให้คุณปู่-คุณย่าที่เป็นคนสเปนช่วยเลี้ยง - กรณีพ่อและแม่พูดภาษาเดียวกัน ก็พูดกับลูกที่บ้านด้วยภาษานั้นๆ แล้วลูกจะเรียนอีกภาษาที่โรงเรียนหรือเวลาเข้าสังคม (Minority Language at Home, MlaH) เช่น ถ้าทั้งพ่อแม่เป็นคนไทย (หรือคู่สมรสสามารถพูดไทยได้) ก็ใช้ภาษาไทยที่บ้าน เวลาลูกไปโรงเรียนก็ต้องใช้ภาษาฝรั่งเศส - ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านพูดภาษาเดียวกัน แต่ในสังคมพูดภาษาที่ 2 (one location, one language) กรณีนี้อาจจะไม่ค่อยพบบ่อยนักสำหรับครอบครัวไทยในฝรั่งเศส - หากทั้งพ่อและแม่พูดได้คล่องแคล่วทั้ง 2 ภาษา ก็สามารถพูดกับลูกได้ทั้ง 2 ภาษา โดยเลือกว่าจะใช้ภาษาใดตามแต่สถานการณ์หรือช่วงเวลา (one time of day, one laguage) เช่น ช่วงระหว่างวันพูดภาษาฝรั่งเศส ช่วงเย็นและเวลาอาหารค่ำที่โต๊ะอาหารใช้ภาษาไทย หรือการใช้วิธีสลับวัน วันละภาษา - พ่อ-แม่ที่พูดได้ทั้ง 2 ภาษาอาจเลือกภาษาที่จะใช้พูดกับลูกแบบสุ่ม กล่าวคือ พ่อ-แม่เปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่าง 2 ภาษาขึ้นอยู่กับหัวข้อที่พูดคุย กิจกรรมที่กำลังทำ หรือกลุ่มคนที่อยู่รอบตัว กรณีนี้มักพบในพ่อ-แม่ที่ไม่ได้ตัดสินใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าตนเองต้องการจะเลี้ยงลูกให้รู้ 2 ภาษาหรือไม่ ขบวนการเรียนรู้ 2 ภาษาในเวลาเดียวกันนั้นมีความคล้ายคลึงกับการพัฒนาในการเรียนภาษาเดียว ยกเว้นแต่ว่าเด็กที่รู้ 2 ภาษานั้นต้องทำงานเพิ่มขึ้นในการแยกระบบของ 2 ภาษานั้นออกจากกัน ตามปกติแล้วอายุเฉลี่ยที่เด็กสามารถจะพูดคำแรกได้นั้นอยู่ในช่วง 8-15 เดือน ซึ่งพบในทั้งเด็กที่เรียนรู้ภาษาเดียวและ 2 ภาษา ถึงแม้ว่าตามสถิติแล้วจะพบว่าเด็กที่รู้ 2 ภาษาอาจจะเริ่มพูดช้ากว่าเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเด็กที่รู้ภาษาเดียว แต่ก็จะเริ่มพูดในช่วงอายุดังกล่าว
ขั้นตอนของการเรียนรู้ 2 ภาษาในเวลาเดียวกัน (ในที่นี้เน้นการพูด) ระยะที่ 1 – เด็กยังไม่มีการแยกระบบคำศัพท์ของภาษาทั้งสอง กล่าวคือ “คำ” จากภาษาทั้งสองจะปนกันในพจนานุกรมในสมองของเขา ถึงแม้ว่าพ่อและแม่จะพูดกับลูกด้วยภาษาเดียวของตนไม่ปนกันแต่ลูกอาจรับรู้ว่าเหมือนกัน และเมื่อต้องพูดออกมาก็อาจใช้คำที่ตนเรียนทั้ง 2 ภาษาไปพร้อมๆ กัน เช่น ลูกอาจบอกแม่ว่า “หิว-โอ” หรือ “ซ้วฟ-น้ำ” แทนที่จะพูดว่า “หิวน้ำ” หรือ “ซ้วฟ” นอกจากนี้อาจออกเสียงของคำผสมกัน เช่น เด็กที่เรียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสพร้อมกันอาจพูดว่า “ตาตี” (tati) ซึ่งเป็นคำผสมของ “thank you” และ “merci” ทำให้พ่อแม่หรือนักการศึกษาก็จะเป็นกังวลเพราะเขาเชื่อว่าเด็กเกิดความสับสนและไม่สามารถแยก 2 ภาษาได้ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่านี่ไม่เป็นความจริง เหตุผลหลักที่ทำให้เด็กต้องผสมภาษากันนั้น เป็นเพราะว่าเขามีคำศัพท์ที่ไม่เพียงพอในภาษาเดียวหรือทั้ง 2 ภาษาที่จะทำให้เขาแสดงออกเพียงภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงต้องยืมคำศัพท์ระหว่างภาษาทั้งสอง เวลาที่ต้องการจะแสดงออกให้คนที่พูดด้วยเข้าใจ จริงๆ แล้วสถานการณ์นี้ เป็นวิธีการในการสื่อสารอย่างหนึ่งด้วยในพ่อหรือแม่ที่รู้และพูดทั้ง 2 ภาษาได้ เพราะบางครั้งพ่อแม่ก็จะพูดปนกันทั้ง 2 ภาษากับลูกเอง ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าคนที่พูด 2 ภาษาอย่างคล่องแคล่วนั้น กลับสามารถใช้ทั้ง 2 ภาษาปนกันโดยที่ไม่มีการแหกกฎไวยากรณ์ของภาษาทั้งสอง (พบได้บ่อยที่คำศัพท์บางคำของในแต่ละภาษาไม่สามารถหาคำแปลที่ตรงกันได้) ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรพยายามที่จะยับยั้งลูกจากการผสมภาษา เพราะเขาจะหยุดผสมภาษาเองตามธรรมชาติเมื่อเขาโตขึ้นและเรียนรู้ว่าควรจะพูดภาษาใดกับใคร ยกเว้นเสียแต่ว่าเขาโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมที่ใช้แต่ภาษาแบบปนกันตลอดเวลา ระยะที่ 2 – เด็กเริ่มแยกระบบคำศัพท์ของ 2 ภาษาออกจากกันได้บ้างแต่ยังคงใช้หลักไวยากรณ์ปนกันอยู่ เด็กมักเลือกใช้ภาษาที่มีโครงสร้างไวยากรณ์ที่ง่ายกว่าในการพูด ระยะนี้อาจกินเวลา 1-2 ปี เมื่อถึงระยะนี้ คนที่เป็นพ่อแม่อาจกังวลกลัวว่าลูกจะสามารถเรียนรู้ 2 ภาษาหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นพ่อแม่ก็มักจะต้องใช้ภาษาปนกันเวลาพูดกับลูกเพื่อให้ได้การสื่อสารที่เร็วและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นความพยายามที่จะแบ่งแยกภาษาออกอย่างชัดเจนนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยากและไม่เป็นธรรมชาติ (ถึงแม้จะเป็นไปได้) แต่ถ้าหากว่าสังคมส่วนใหญ่จะลูกพูดเพียงภาษาเดียวแล้ว พ่อแม่ก็คงไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะใช้ภาษาปนกัน แต่ลักษณะนี้เด็กก็จะพัฒนาการเรียนรู้ไปเป็นแบบภาษาเดียว ดังนั้นคงสรุปได้ว่าพ่อแม่ไม่ควรกังวลหากลูกจะใช้ภาษาปนกัน ถ้าหากว่าคุณอยากให้ลูกรู้ 2 ภาษาเมื่อโตขึ้น ระยะที่ 3 – เด็กสามารถแยกแยะทั้ง 2 ภาษาได้ทั้งคำศัพท์และโครงสร้างของประโยค เด็กสร้างความสัมพันธ์ของภาษาโดยผูกกับคนที่พูดด้วยหรือสิ่งแวดล้อม เช่น ถ้าพูดกับพ่อต้องพูดฝรั่งเศส ถ้ากับแม่ก็ภาษาไทย หรือถ้าไปโรงเรียนต้องใช้แต่ภาษาฝรั่งเศส แต่พอแม่ไปรับเมื่อเห็นแม่ก็จะพูดภาษาไทยกับแม่ทันที สำหรับการเรียนรู้หลักไวยากรณ์ทั่วไปก็เหมือนในเด็กที่ต้องเรียนพูดแต่ภาษาฝรั่งเศสอย่างเดียว เช่น ต้องเรียนรู้ว่ามีการเปลี่ยนรูปของกิริยาเพื่อแสดงอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต และในภาษาไทยต้องเรียนรู้ว่าต้องใช้คำวิเศษณ์เติมที่หน้า ระหว่างหรือหลังประโยค เช่น ฉันกินข้าว เมื่อวานนี้ฉันกินข้าว หรือฉันจะกินข้าว เด็กจะสามารถเรียนรู้กฏและข้อยกเว้นของหลักไวยากรณ์ต่างๆ เมื่อเขามีความมั่นใจและมีความยืดหยุ่นในการใช้แต่ละภาษามากขึ้น เด็กที่มีโอกาสได้ใช้หรือได้ยินทั้ง 2 ภาษาอย่างสม่ำเสมอทั้งจากพ่อ-แม่ หรือคนเลี้ยง จะผ่านจุดสำคัญในการพัฒนาการของภาษาที่ไม่แตกต่าง และอยู่ในอายุช่วงโดยประมาณเดียวกันกับเด็กที่พูดภาษาเดียว สิ่งที่ควรจดจำคือมีความแตกต่างระหว่างเด็กอย่างมากในการเรียนรู้ภาษา เด็กบางคนอาจรู้คำศัพท์คำแรกและพูดได้เร็วกว่าเด็กคนอื่น ความล่าช้าของการเริ่มพูดคำแรกหรือการพูดเป็นประโยคได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีปัญหาหรือมีสิ่งผิดปกติ เด็กที่พูดช้านั้นเขาใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์นี้มักพบในเด็กที่ต้องเรียน 2 ภาษา สิ่งที่สำคัญคือพ่อ-แม่จะต้องจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ลูกได้ยินหรือได้ใช้ทั้ง 2 ภาษาตลอดเวลา และต้องหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมภาษาของเด็กอย่างทันทีทันใด ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดตอนของการพัฒนาการของภาษาและก่อให้เกิดความลำบากแก่เด็ก บางกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์บางท่านแนะนำให้เลิกใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งเวลาพูดกับเด็ก และภาษาที่ต้องเลิกใช้ก็มักเป็นภาษาที่ไม่ได้ถูกใช้บ่อยในสังคม เช่นภาษาไทยในสังคมฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลคือ 1) มักเชื่อว่าการได้ยินมากกว่า 1 ภาษาจะทำให้เด็กสับสนและนำไปสู่ปัญหาการเรียนรู้ภาษาได้ 2) เชื่อกันว่าการเรียนรู้ภาษาหลักเพียงภาษาเดียวก่อน จะทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ได้มากกว่าโดยไม่ต้องมีการแข่งขันของอีกภาษาหนึ่ง อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าการได้ยินมากกว่า 1 ภาษาตั้งแต่วัยเด็กเล็กนั้นจะนำไปสู่ปัญหาความล่าช้าหรือความผิดปกติในการเรียนภาษาแต่อย่างใด นอกจากนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า หากเลิกใช้ภาษาหนึ่งแล้วจะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาเดียวเป็นหลักได้ดีขึ้น

การเรียนรู้ 2 ภาษาแบบตามลำดับ รูปแบบนี้เด็กจะเรียนรู้ภาษาที่ 2 เมื่อเขามีพื้นฐานที่ดีในภาษาที่ 1 แล้ว สถานการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยเช่น กรณีที่พ่อ-แม่ต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในฝรั่งเศส และลูกจะต้องมาเรียนภาษาฝรั่งเศสโดยที่ลูกสามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยได้แล้ว หรือแม้กระทั่งเด็กที่เกิดในฝรั่งเศสแต่ถูกเลี้ยงดูเฉพาะในสิ่งแวดล้อมของภาษาเดียวเท่านั้น และเมื่อถึงวัยต้องเข้าโรงเรียนที่ 2-3 ขวบจึงเริ่มเรียนอีกภาษาหนึ่ง เช่น ลูกหลานคนจีนที่อยู่ในชุมชนจีนใหญ่ หรือในเด็กที่เกิดในฝรั่งเศสแต่พ่อแม่ไม่ได้พูดภาษาไทยด้วย แล้วต้องย้ายกลับไปใช้ชีวิตและเข้าโรงเรียนที่ประเทศไทย หรือกรณีที่ลูกถูกส่งไปเรียนภาษาไทยช่วงปิดเทอมใหญ่ที่เมืองไทย ขั้นตอนการเรียนรู้รูปแบบนี้มีความแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน เป็นรูปแบบที่มีความซับซ้อนและมีขบวนการที่ยาวนานกว่าการเรียน 2 ภาษาไปพร้อมๆ กัน (ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตามลำดับหรือทุกขั้นตอน) แต่พอมีขั้นตอนที่พอสรุปได้คือ - ระยะการปฏิสัมพันธ์ เด็กส่วนใหญ่เรียนภาษาที่ 2 เพราะพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม คือการเล่นกับเพื่อนที่อายุใกล้เคียงกัน เริ่มต้นเขาจะสื่อสารด้วยภาษาที่ไม่ต้องใช้การพูด จากนั้นเขาจะเรียนภาษาง่ายๆ จากคนอื่นในระหว่างที่เล่นด้วยกัน และพัฒนาจนสามารถพอที่จะสื่อสารกันได้ - ระยะการใช้ 2 ภาษาควบคู่กัน เกิดขึ้นในระยะแรกๆ เพราะเด็กจะพยายามสื่อสารทำให้ใช้หลักหรือคำศัพท์ของภาษาที่ 1 มาใช้กับภาษาที่ 2 เช่น ลูกอาจจะใช้ศัพท์ฝรั่งเศสแทรกในภาษาไทยที่พูดกับเพื่อน - ระยะเงียบ-ไม่พูดจา เด็กหลายคนเกิดอาการนี้เมื่อต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมของภาษาที่ 2 ระยะนี้อาจกินเวลาหลายเดือน ซึ่งก็อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เด็กพยายามสร้างความเข้าใจต่อภาษาที่ตนเองไม่รู้จักนั่นเอง ระยะเวลาของการเงียบนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการเรียนรู้และบุคลิกภาพของเด็กแต่ละคน เช่นเด็กบางคนมีบุคลิกภาพชอบสังเกตก็อาจจะเงียบนานกว่า ทำให้เริ่มพูดช้ากว่าเด็กที่ชอบเข้าสังคมและเล่นกับเพื่อน ซึ่งสิ่งนี้ก็พบเสมอในเด็กที่เรียนรู้เพียงภาษาเดียว บางครั้งการที่เด็กไม่ยอมพูด บางครั้งเป็นเพราะเด็กไม่ได้มีโอกาสในการได้ยินภาษาอย่างเพียงพอ ที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้กฏเกณฑ์ของภาษานั้น ซึ่งบ่อยครั้งที่เด็กไม่จำเป็นต้องพูด เพราะว่าพ่อแม่ตอบสนองต่อลูกเมื่อลูกใช้ภาษาท่าทางโดยการชี้แทนการพูด - ระยะการเปลี่ยนกลับไปกลับมา เป็นขบวนการปกติของการเปลี่ยนกลับไป-มาระหว่าง 2 ภาษาภายในประโยคเดียวกัน จริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยหากเด็กได้ยินผู้ใหญ่หรือผู้เป็นพ่อ-แม่พูด 2 ภาษาปะปนกัน - ระยะการลืมภาษา ระยะนี้จะเกิดขึ้นหากภาษาที่ 1 ต้องถูกแทนที่ด้วยภาษาที่ 2 แบบทันทีทันใด พบบ่อย เช่น ในเด็กที่คุณพ่อ-คุณแม่พาไปอยู่กับคุณปู่คุณย่าชาวฝรั่งเศส ทำให้ระหว่างนั้นไม่มีการใช้ภาษาไทยเลย จะทำให้เด็กลืมภาษาไทยและพูดกับแม่เป็นภาษาฝรั่งเศส หรือช่วงที่เด็กกลับเมืองไทยโดยที่คุณพ่อชาวฝรั่งเศสไม่ได้ตามไปด้วย เด็กก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเลย พอกลับมาถึงก็จะพูดกับคุณพ่อชาวฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย
ข้อพิจารณาสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ การเรียนรู้ภาษาในช่วง 10 ปีแรกของชีวิตเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อความสำเร็จทางด้านการเรียนและทักษะทางสังคม คงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกรายละเอียดทั้งหมดที่พ่อแม่ควรพิจารณา เมื่อเด็กอยู่ในสถานการณ์ที่เขาควรจะต้องเรียนรู้มากกว่า 1 ภาษา ในฐานะที่คุณเป็นผู้ตัดสินใจเลือกทางเดินให้แก่ชีวิตของลูกตัวเอง มีหลายสิ่งที่ควรพิจารณาดังนี้ แรงจูงใจของพ่อ-แม่ นับว่าต้องใช้ความพยายามและความตั้งใจอย่างมากในการเลี้ยงลูกให้รู้ 2 ภาษา พ่อ-แม่ควรต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมตนจึงอยากให้ลูกเรียนรู้ทั้ง 2 ภาษา เช่น ตัวคุณเองพูด 2 ภาษาได้จึงอยากให้ลูกพูดได้เช่นกัน หรือคุณต้องการให้ลูกสามารถสื่อสารกับครอบครัวซึ่งอยู่เมืองไทยได้ หรือคุณคิดว่าการให้ลูกรู้ 2 ภาษาเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง หรือคุณมีแผนการจะต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศจึงต้องการให้ลูกเรียนรู้ภาษาของประเทศนั้นๆก่อน นอกจากนี้คุณควรต้องพิจารณาถึงระดับของการรู้ทั้ง 2 ภาษาด้วย เช่นคุณอาจคาดหวังว่าลูกจะต้องพูด อ่านออก เขียนได้ทั้ง 2 ภาษา หรือพูดได้ในภาษาหนึ่ง และเข้าใจแต่พูดไม่ได้ในอีกภาษาหนึ่ง และถ้าคุณพิจารณาเลือกวิธีการ “หนึ่งคน หนึ่งภาษา” แล้ว ทั้งพ่อและแม่ก็จำเป็นต้องมีการพูดคุยกับลูกด้วยภาษาของตนอย่างจริงจัง เรื่องนี้มีความสำคัญมากโดยเฉพาะหากภาษานั้นๆ ไม่ได้เป็นที่ใช้กันแพร่หลายในสังคม เช่นชนชาติที่รู้ภาษาไทยมีเพียงแค่คนไทยเท่านั้น (และคนลาวเพราะเป็นภาษาที่มีความใกล้เคียงกันมาก) ดังนั้นหากคุณแม่คนไทยไม่ค่อยพูดกับลูกเป็นภาษาไทยแล้ว หรือไม่ค่อยได้มีเวลาให้กับลูกเช่นกรณีที่คุณแม่ต้องทำงานนอกบ้าน และไม่ค่อยได้พาลูกเข้ากลุ่มสังคมคนไทยด้วยกันแล้ว โอกาสที่ลูกจะได้เรียนภาษาไทยก็ยิ่งน้อยขึ้นไปอีก หากลูกไม่ประสบความสำเร็จในการรู้หรือพูดภาษาไทยคุณก็คงไม่ต้องสงสัยอะไร การให้กำลังใจ เด็กไม่ได้เรียนรู้โดยเพียงแต่ “เก็บตก” ภาษา แต่เขาต้องการความรัก การสนับสนุนและการให้กำลังใจอย่างมากในการพัฒนาทั้ง 2 ภาษาให้ได้อย่างดี หากเด็กต้องเรียนรู้ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียดก็อาจนำไปสู่ปัญหาการพัฒนาการด้านภาษาได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นได้ในเด็กที่ต้องเรียนเพียงแค่ภาษาเดียว จงให้กำลังใจเขาในการใช้แต่ภาษาไทยตลอดบทสนทนากับคุณ เช่น หลีกเลี่ยงให้เขาพูดภาษาฝรั่งเศสกับคุณ โดยการขอให้เขาพูดซ้ำสิ่งที่เขาพูดเป็นภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย หรือคุณช่วยเขาสร้างประโยคภาษาไทยในสิ่งที่เขาอยากพูดหรือพูดเป็นภาษาฝรั่งเศส หรือบอกคำศัพท์ไทยที่เขาไม่รู้เพื่อให้เขาสามารถสร้างทั้งประโยคเป็นภาษาไทยได้ จงอย่าใช้ “การใช้ภาษา” เป็นประเด็นหลักที่จะใช้ในการลงโทษลูก และอย่าทำโทษหรือว่ากล่าวเด็กในการที่เขาจะใช้ภาษาใด หรือไม่ใช้ภาษาใด
ความเชี่ยวชาญในภาษาทั้งสองของพ่อ-แม่ พ่อ-แม่ควรมีความรู้สึกเป็นธรรมชาติในภาษาที่ตัวเองใช้พูดกับลูก ต้องแน่ใจว่าลูกได้ยินทั้ง 2 ภาษา (หรือมากกว่า) อย่างสม่ำเสมอและบ่อยในสถานการณ์ที่หลากหลาย เช่น พยายามให้เด็กได้พูดคุยกับคนไทยหลายๆ คน สร้างโอกาสให้แก่ลูกของคุณให้ได้ใช้ภาษาทั้งหมดที่เขาได้ยิน เด็กก็จะเรียนรู้วิธีการแสดงออกหรือการพูดได้หลากหลาย และได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น คุณแม่ทั่วไปมักพูดกับลูกด้วยศัพท์ง่ายๆ ซ้ำๆ ในชีวิตประจำวัน ลูกก็ไม่ได้เรียนคำศัพท์ใหม่ นอกจากนี้เด็กเรียนรู้คำศัพท์จากคนที่ได้พูดคุยด้วยแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนฝรั่งเศส ถ้าเด็กพูดกับคนฝรั่งเศสบ่อยกว่า เด็กก็จะรู้คำศัพท์ที่ใช้อธิบายสิ่งของเป็นภาษาฝรั่งเศสมากกว่าคำศัพท์ไทย ทำให้เด็กมีแนวโน้มในการเรียกชื่อของนั้นๆ เป็นภาษาฝรั่งเศส โดยทั่วไปแล้วความสามารถของเด็กที่ต้องเรียน 2 ภาษาขึ้นอยู่กับปริมาณเวลาที่เขาได้มีโอกาสได้ใช้ในแต่ละภาษานั่นเอง ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมากที่พ่อหรือแม่คนไทย ต้องพูดกับลูกเป็นภาษาไทย เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสได้ใช้ภาษาไทยให้มากที่สุด เพราะในชีวิตประจำวันของเขาที่โรงเรียนซึ่งเป็นที่ๆ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่เป็นแต่สิ่งแวดล้อมที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส คุณควรพูดกับลูกๆ ของคุณทุกคน (กรณีมีหลายคน) ในแบบเดียวกัน ไม่ใช่ว่าใช้ภาษาหนึ่งกับลูกคนโตและอีกภาษากับคนเล็ก การเรียนรู้ภาษามีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางอารมณ์ และถ้าคุณพูดกับลูกๆ ด้วยภาษาที่ต่างกันแล้ว ลูกของคุณบางคนอาจจะรู้สึกแปลกแยกซึ่งอาจมีผลเสียต่อการพัฒนาพฤติกรรมของเขาได้ กรณีที่พ่อแม่มักต้องการให้ลูกมีความสามารถในการอ่านและเขียนได้ด้วยทั้ง 2 ภาษา นอกเหนือไปจากการพูด แต่ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะเรียนอ่าน-เขียนเฉพาะภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียน ความที่ตัวอักษรไทยมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาษาฝรั่งเศส พ่อแม่อาจพิจารณาสอนพิเศษ (สอนเองหรือจ้างครูสอน) ช่วงเย็นหรือวันเสาร์-อาทิตย์ หรือจัดหาอุปกรณ์ หนังสือ เทป ต่างๆ จากประเทศไทยเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง การอ่านหนังสือเป็นวิธีที่สุดในการช่วยให้เขารู้คำศัพท์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็แล้วแต่ ไม่เพียงแต่สนับสนุนในการเรียนรู้ภาษาของเขาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกิดการสร้างสัมพันธภาพระหว่างเด็กและพ่อแม่อีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นการสอนเด็กโดยอ้อม เกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมของประเทศที่พูดภาษานั้น ซึ่งเขามีโอกาสน้อยที่จะพบเห็นในสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ในปัจจุบัน
มักเชื่อกันโดยทั่วไปว่าเป็นการง่ายสำหรับเด็ก ที่จะเรียนภาษาใหม่โดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ภาษา ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ภาษาเดียวก็เป็นขบวนการที่ใช้เวลาอย่างต่อเนื่องหลายปี ภาษาเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน การเรียนรู้ความสลับซับซ้อนของภาษานั้นๆ จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ชีวิตอย่างมาก อาจจะไม่ได้ใช้เวลานานในการเรียนรู้ที่จะพูดหรือสร้างประโยคง่ายๆ (ถึงแม้ว่าในเด็กที่เรียนรู้เพียงภาษาเดียวต้องใช้เวลาถึง 3 ปีก่อนที่จะสามารถพูดและสื่อสารให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงให้เข้าใจได้) แต่ต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะสามารถพัฒนาทักษะในการพูดภาษาที่เป็นทางการ สิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้ที่จะพูด เด็กเรียนที่จะพูดต่อเมื่อเขาได้ยินผู้อื่นพูดกับเขาในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน การพัฒนาภาษาในช่วงแรกขึ้นอยู่กับความรู้ของคำศัพท์ ยิ่งเด็กรู้คำศัพท์มากเท่าไรเขาก็จะเรียนรู้ที่จะพูดได้ดีขึ้นมากเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้เขามีโอกาสในการเรียนรู้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

อ้างอิงจาก Marsha Rosenberg (1996) Raising bilingual children: http://iteslj.org/Articles/Rosenberg-Bilingual.html Claire Watson (1995) Helping families from other cultures decide on how to talk to their child with language delays.: http://hanen.velocet.ca/wigwag_winter95.shtml Fred Genesee: Bilingual acquisition. http://www.earlychildhood.com/Articles Annick De Houwer (1999) Two or more languages in early childhood: some general points and practical recommendations. http://www.cal.org/ERICCLL/digest/earlychild.html Nadine Lichtenberger:Raising bilingual kids in german and english (1 and 2). An online supplement to The German Way by Hyde Flippo Passport Books (a division of NTC/Contemporary Publishing) ISBN 0-8442-2513-4

2)บทความโดย คุณรัตนา Coville ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกให้พูด 2 ภาษา (1) จากประสบการณ์ เล็กๆน้อยๆ ที่อยากเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ทั้งหลาย (โดยเฉพาะคุณแม่ที่เป็นคนไทย) ที่กำลังจะมีน้องตัวน้อยๆ หรือคุณแม่ที่มีลูก กำลังเริ่มจะพูดจา บางครั้งคุณแม่คงสับสนว่าจะให้ลูกพูดภาษาไทยไปพร้อมกับภาษาต่างชาติไหมหนอ กลัวจะยากลำบาก และกลัวว่าจะเป็นผลดีผลเสียต่อลูกไหม แต่ก็อยากให้ลูกพูดภาษาไทยได้ เข้าใจภาษาไทยได้ดี เพราะเวลาไปเยี่ยมญาติที่เมืองไทย เด็กจะได้ไม่เหงา และสามารถพูดคุยกับทุกคนได้ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเหนื่อยแปลภาษา หลายๆ ครอบครัวคนไทยในฝรั่งเศสคงพยายามช่วยลูกด้วยวิธีการและเทคนิคที่แตกต่างกัน เพราะเด็กแต่ละคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน การปฏิบัติจึงอาจแตกต่างกันไป สำหรับดิฉันคิดว่าการเรียนรู้ของเด็กตั้งแต่เล็ก ย่อมเป็นผลต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และการให้เด็กได้พูดภาษาไทยนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเราคนไทยควรปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยของเราไว้ ตัวอย่างง่ายๆ การมีสัมมาคารวะต่อผู้สูงอายุ ไปมาลาไหว้ การสำนึกบุญคุณ และมีกตัญญู ถ้าเด็กได้เรียนรู้และปฏิบัติตั้งแต่ต้น ความเคยชินกับสิ่งนี้ก็จะติดตัวเด็กไป ทั้งจากประสบการณ์ของดิฉันและการที่ได้เห็นคุณแม่อีกหลายๆ คน ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการสอนลูกพูดภาษาไทยได้ชัดเจน และสามารถโต้ตอบได้เหมือนอยู่ในเมืองไทย ดิฉันคิดว่าการสอนให้เด็กพูดภาษาไทยตั้งแต่เล็กอยู่ จะเป็นรากฐานที่ดี ดิฉันใช้วิธีสอนให้ลูกพูด 2 ภาษาไปพร้อมๆ กัน ดิฉันมีความตั้งใจว่าจะสอนลูกให้พูดภาษาไทยตั้งแต่ตั้งท้องแล้ว พอแกลืมตามองโลกก็พูดภาษาไทยกับลูกทุกวัน ส่วนคุณพ่อก็พูดภาษาฝรั่งเศสกับลูก ตอนนี้ลูกสาวเกือบจะ 8 ขวบแล้ว ก็พูดและเข้าใจภาษาไทยได้ดี (แม้สำเนียงจะยังไม่ค่อยชัดเจนเหมือนคนไทยจริงๆ) กลับไปเมืองไทยก็พูดกับญาติๆ และเล่นสนุกกับเพื่อนๆ ได้ และยังเป็นเด็กที่รักเมืองไทยมาก การที่คุณแม่พูดภาษาไทยอย่างต่อเนื่องทุกวัน สม่ำเสมอ ให้ลูกฟัง เป็นวิธีที่ดีที่สุด และได้ผลที่สุดด้วย ตอนเล็กๆ สมองของเด็กสามารถเก็บข้อมูลได้เร็วและจำได้ขึ้นใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเวลาและให้กำลังใจแก่ลูก อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ทำให้ลูกคุ้นเคยกับตัวหนังสือไทยและตัวเลขไทยตั้งแต่เล็กๆ ปล่อยแกสนใจอย่างธรรมชาติ ถึงจะเขียนและอ่านไม่ได้ตอนแรก ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับ ควรปล่อยให้แกสบายใจในขณะที่เรียนรู้ แต่ถ้าเด็กต้องการที่จะเรียนย่อมเป็นโอกาสที่ดีของคุณแม่ที่จะสอนไปพร้อมกัน และที่สำคัญที่สุด คือควรพยายามสอนให้ถูกหลักจะดีกว่าสอนลูกคำต่อคำ หรือพูดผสมไทยคำฝรั่งเศสคำ ซึ่งบางครั้งเราก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ต้องใช้ 2 ภาษาพร้อมกัน แต่ก็อยู่ที่ความตั้งใจของคุณแม่ที่จะเข้มงวดแค่ไหน ถ้าอยากให้ผลที่ออกมาค่อนข้างจะสมบูรณ์ คุณแม่ก็ต้องระวังในการพูด เพราะจุดนี้จะเป็นผลต่อเด็ก และต่อความจำของเด็ก เด็กจะจำและเลียนแบบทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณแม่พูดออกมา การพูดประโยคที่มีความหมายชัดเจนและสมบูรณ์แต่ต้นๆ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ การเขียนและการอ่านได้เร็วขึ้น เมื่อเขาเติบโตและพร้อมที่จะเรียนภาษาไทยเพิ่มเติมในภายหน้า กิจกรรมอื่นที่ช่วยให้ลูกจำง่ายและสนุกเพลิดเพลินไปกับการเรียนก็คือ มีหนังสือการเรียนประกอบภาพ วิดีโอเทป มีภาพเคลื่อนไหว อีกวิธีหนึ่งคือ เขียนตัวหนังสือบนกระดาษสี่เหลี่ยม ด้วยคำต่างๆ เช่น แก้วน้ำ เก้าอี้ ช้อน ฯลฯ จะช่วยให้ลูกจำคำศัพท์ใหม่ๆ ได้เร็ว

ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกให้พูด 2 ภาษา (2) อย่างไรก็ตามอยากเล่าเกี่ยวกับปัญหาของลูกสาวช่วงเข้าโรงเรียน เพราะพูดภาษาไทยและใกล้ชิดกับแม่มากกว่าพ่อ ตอนอยู่อนุบาลก็ไม่ค่อยจะมีปัญหานัก แต่พอเริ่มเรียน ป. 1 ตอนเทอมแรกรู้สึกว่าแกจะมีปัญหาเรียนไม่ทันเพื่อนๆ เพราะภาษาฝรั่งเศสอ่อนมาก ขณะที่การเรียน ป. 1 เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนภาษาฝรั่งเศสเริ่มต้น ต้องใช้เวลาและทำความเข้าใจภาษาและไวยากรณ์ให้ถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว พอเลื่อนชั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งยากขึ้นทุกที ช่วงนั้นกลุ้มใจและสับสนมาก สงสารลูก กลัวไม่ทันเพื่อน และลูกสาวก็บอกว่า “คุณแม่ไม่อยากพูดภาษาไทยเลยช่วงนี้ บางครั้งลืมตัวพูดที่โรงเรียน เพื่อนเขาล้อหนูว่าพูดไม่รู้เรื่อง” โทรศัพท์ถามเพื่อนคนไทย ทุกคนก็มีความคิดเห็นต่างกัน บ้างก็ว่าเป็นเรื่องธรรมดา บ้างก็ว่าสงสัยลูกเธอจะมีปัญหา ลูกฉันไม่เห็นเป็นอะไรเลย ท้ายสุดก็ปรึกษาครูประจำชั้นซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุด เขาก็แนะนำและบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กลูกครึ่งที่ต้องพูด 2 ภาษาพร้อมกัน คือตอนแรกอาจจะปรับตัวได้ช้าหน่อย แต่หลังจากนั้นก็จะดีขึ้นเอง ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญา และการเรียนรู้ของเด็กว่าจะไปได้ขนาดไหน คุณครูแนะนำให้อ่านหนังสือฝรั่งเศสบ่อยๆ สำหรับพ่อแม่ที่เป็นฝรั่งเศสคงไม่มีปัญหา แต่ดิฉันเป็นคนไทย ภาษายังไม่หนักแน่นทำให้มีปัญหาไม่สามารถช่วยอธิบายการบ้านให้ลูกได้ และยิ่งถ้าครอบครัวไหนมีคุณพ่อที่ทำงาน และไม่มีเวลาดูแลเรื่องการเรียนของลูกก็จะยิ่งไปใหญ่ หลังจากรู้จุดอ่อนของลูกสาวแล้ว ก็หาคุณครูมาสอนพิเศษอาทิตย์ละครั้ง ต่อมาเทอมที่ 2 และ 3 การเรียนก็ดีขึ้น ไม่ถึงขั้นที่จะต้องกลุ้มใจหนัก สังเกตได้จากเทอมสุดท้าย ภาษาแกเรียนรู้ได้เร็วมาก พอจบ ป. 1 ก็อ่านออก เขียนได้ ตัวเองคิดว่า ก่อนจะเข้า ป. 1 ควรหัดให้ลูกมีการเตรียมตัวเกี่ยวกับภาษาฝรั่งเศส คุ้นเคยกับตัวเลขและตัวหนังสือ หัดให้เด็กอ่านและดูหนังสือให้ผ่านตา คิดว่าวิธีนี้อาจจะช่วยได้บ้าง ถึงจะไม่เข้าใจหมด แต่ก็จะได้ศัพท์ และรู้ความหมายของคำต่างๆ ได้เยอะ สำหรับคุณแม่ที่มีลูกมีปัญหาที่โรงเรียนเหมือนอย่างดิฉันในช่วงแรกนั้น ก็ไม่ต้องกังวลไปเพียงแต่คอยช่วยให้กำลังใจลูก มีอะไรก็ขอคำแนะนำจากคุณครูประจำชั้นของลูก เพราะเขารู้ดีว่า ลูกเราอ่อนวิชาไหน และควรทำอย่างไร และแน่นอนที่สุด บุคคลที่จะช่วยลูกได้ดีที่สุดที่บ้านก็คือ คุณพ่อคุณแม่นั่นเอง ความรัก ความเอาใจใส่ เวลาและกำลังใจที่คุณพ่อคุณแม่มอบแก่ลูก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ขอให้โชคดีทุกคนนะคะ

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home